ข้ามไปเนื้อหา

ฮิบาริ มิโซระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮิบาริ มิโซระ
ฮิบาริ มิโซระเมื่อ พ.ศ. 2498
เกิดคาซูเอะ คาโต
29 พฤษภาคม พ.ศ. 2480
โยโกฮามะ จังหวัดคานางาวะ จักรวรรดิญี่ปุ่น
เสียชีวิต24 มิถุนายน พ.ศ. 2532 (52 ปี)
เขตมินาโตะ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
อาชีพนักร้อง, นักแสดง
อาชีพทางดนตรี
แนวเพลง
ช่วงปีพ.ศ. 2488–2532 (นักร้อง)
พ.ศ. 2492–2514 (นักแสดง)
เว็บไซต์misorahibari.com

คาซูเอะ คาโต (ญี่ปุ่น: 加藤 和枝โรมาจิKatō Kazue) เป็นที่รู้จักในชื่อ ฮิบาริ มิโซระ (ญี่ปุ่น: 美空 ひばりโรมาจิMisora Hibari; 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2532) เป็นนักร้อง นักแสดง และเป็นสัญญะทางวัฒนธรรม (cultural icon) ชาวญี่ปุ่น[1][2] เธอได้เหรียญเกียรติยศจากการใช้ดนตรีพัฒนาสังคมและสวัสดิการหรือการบริการสาธารณะ และเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศประชาชน (People's Honour Award) ในฐานะผู้มอบความหวังและกำลังใจแก่ผองชนหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง[3][4]

มิโซระบันทึกเพลงทั้งหมด 1,200 เพลง และจำหน่ายได้ 68 ล้านแผ่น[5] และหลังการเสียชีวิตของเธอ พบว่าแฟนเพลงมีความต้องการซื้อเพลงของเธอสูงมากอย่างมีนัยสำคัญ เฉพาะ พ.ศ. 2544 ผลงานเพลงของเธอขายได้มากกว่า 80 ล้านแผ่น[6][7] ในสมัยนั้นมีนักร้องเอ็งกะชายชื่อมิจิยะ มิฮาชิ เป็นนักร้องร่วมสมัยเดียวกับเธอที่มีชื่อเสียงยิ่ง แต่มิโซระกลับเจิดจรัสในผลงานจอเงินเสียมากกว่า มีผลงานภาพยนตร์จำนวน 166 เรื่อง[8] เธอได้รับความนิยมจากผลงานเพลงสวอนชื่อ "คาวะโนะนางาเระโนะโยนิ" (川の流れのように "ดังสายธารา") ซึ่งมักถูกบรรเลงโดยศิลปินและออร์เคสตราหลายวงเป็นเกียรติแก่เธอ และทุก ๆ ปีจะมีรายการพิเศษทางโทรทัศน์และวิทยุญี่ปุ่นเปิดเพลงของเธอเสมอ ใน พ.ศ. 2555 มีการจัดคอนเสิร์ตเพื่อรำลึกถึงมิโซระ ณ โตเกียวโดม โดยมีนักร้องที่มีชื่อเสียงหลายคนร่วมในคอนเสิร์ตดังกล่าว[3]

เดือนกันยายน พ.ศ. 2562 มีการใช้ซอฟแวร์โวคาลอยด์ รุ่นโวคาลอยด์:เอไอ (VOCALOID:AI) สร้างเสียงร้องของเธอขึ้นมาใหม่ รวมทั้งสร้างภาพมิโซระขณะทำการร้องเพลงในรูปแบบสามมิติ สำหรับประกอบเพลง "อาเระคาระ" (あれから) [9][10][11]

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตตอนต้น

[แก้]

มิโซระ มีชื่อจริงว่า คาซูเอะ คาโต เกิดในเขตอิโซโงะ นครโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นธิดาของมาซูกิจิ คาโต (加藤 増吉) พ่อค้าปลา กับคิมิเอะ คาโต (加藤 喜美枝) แม่บ้าน มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับพื้นฐานครอบครัวของเธอ[12] เพราะมีการระบุว่ามิโซระเป็นชาวเกาหลีไซนิจิ เธอและครอบครัวถือหนังสือเดินทางของเกาหลี เรื่องนี้แพร่ไปอย่างรวดเร็ว[13][14][15][16][17] หลังการมรณกรรมของมิโซระ โร ทาเกนากะ นักเขียน และสึกาซะ โยชิดะ นักข่าว เข้าตรวจสอบปูมหลังครอบครัวมิโซระ ที่สุดพวกเขายืนยันว่าเธอและครอบครัวเป็นชาวญี่ปุ่นแท้ ๆ หาใช่คนเกาหลี[18][19][20]

เธอแสดงความสามารถด้านดนตรีตั้งแต่เด็กด้วยการร้องเพลงในงานเลี้ยงเมื่อ พ.ศ. 2486 เมื่อพบความสามารถของลูก บิดาจึงลงทุนเพื่อให้ลูกสาวเข้าสู่วงการเพลง ที่ได้จากเงินเก็บจำนวนหนึ่งของครอบครัว กระทั่ง พ.ศ. 2488 เธอปรากฏตัวต่อสาธารณชนในฐานะนักร้องครั้งแรกที่คอนเสิร์ตในโยโกฮามะเมื่ออายุได้แปดขวบ เวลาเดียวกันนั้นเธอเปลี่ยนไปใช้ชื่อสกุลมิโซระ (美空) ซึ่งแปลว่า "ฟ้างาม" ตามความประสงค์ของมารดา กระทั่งปีถัดมา เธอออกรายการโทรทัศน์ของช่องเอ็นเอชเค มาซาโอะ โคงะซึ่งเป็นนักแต่งเพลง กล่าวชื่นชมในความสามารถด้านการร้องเพลงของเธอ รวมทั้งชอบพอในอัธยาศัย ความกล้าหาญ ความเข้าอกเข้าใจ และวุฒิภาวะของเธอซึ่งดูเป็นผู้ใหญ่ และสองปีหลังจากนั้นมิโซระกลายเป็นนักร้องที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ตของเธอขายหมดเกลี้ยงทุกครั้งไป

การทำงาน

[แก้]
มิโซระและฮารูโอะ โอกะ ในภาพยนตร์เรื่อง อาโกงาเระ โนะ ฮาไวอิ โคโระ พ.ศ. 2493

พ.ศ. 2492 ขณะเธออายุได้ 12 ปี เธอเปลี่ยนไปใช้ชื่อในการแสดงว่า ฮิบาริ มิโซระ (美空 ひばり) แปลว่า "นกจาบฝนบนฟ้างาม" มีผลงานภาพยนตร์เรื่อง โนโดจิมังเคียวจิได (のど自慢狂時代) ทำให้เธอมีชื่อเสียงมากขึ้น ต่อมาในปีเดียวกันเธอบันทึกเพลง "คัปปะบูงิอูงิ" (河童ブギウギ) ของค่ายเพลงโคลัมเบีย[17] ขายได้ 450,000 ตลับ และบันทึกเพลง "คานาชิกิคูจิบูเอะ" (悲しき口笛) ซึ่งเป็นที่นิยมตามสถานีวิทยุทั่วประเทศญี่ปุ่น[17] วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2500 เธอถูกทำร้ายด้วยกรดไฮโดรคลอริกที่โรงละครนานาชาติอาซากูซะ จนเธอได้รับบาดเจ็บ ผู้ที่ทำร้ายเธอเป็นแฟนเพลงตัวยงของเธอ

ด้านการแสดง มิโซระแสดงภาพยนตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2492–2514 มีชื่อเสียงมากในภาพยนตร์เรื่อง โตเกียวคิด (東京キッド) ฉายเมื่อ พ.ศ. 2493 โดยเธอรับบทเป็นเด็กกำพร้าข้างถนน ทำให้เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของทั้งความยากลำบากและการมองโลกในแง่ดี ในช่วงเวลาหลังญี่ปุ่นพ่ายสงครามโลกครั้งที่สอง[21]

เสียชีวิต

[แก้]

เดือนเมษายน พ.ศ. 2530 มิโซระล้มป่วยระหว่างกำลังเดินทางไปแสดงที่ฟูกูโอกะ ถูกนำส่งไปโรงพยาบาลในตัวจังหวัด แพทย์วินิจฉัยว่าเธอป่วยเป็นโรคหัวกระดูกสะโพกขาดเลือด (Avascular necrosis) ซึ่งเกิดจากโรคตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic hepatitis) เธอฟื้นตัวในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน และเริ่มบันทึกเพลงใหม่ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2530 และกลับมาแสดงคอนเสิร์ตที่โตเกียวโดมเดือนเมษายน พ.ศ. 2531 และมีอาการทรุดหลังจากนั้น

มิโซระเสียชีวิตจากโรคปอดบวมเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2532 ขณะอายุ 52 ปี ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในโตเกียว

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

พ.ศ. 2505 มิโซระสมรสกับอากิระ โคบายาชิ ซึ่งเป็นนักร้องและนักแสดงเช่นกัน แต่ทั้งสองหย่ากันใน พ.ศ. 2507 โดยไม่มีบุตร-ธิดาด้วยกัน

พ.ศ. 2516 เท็ตสึยะ คาโต พี่น้องคนหนึ่งของมิโซระถูกจับกุมในข้อหาซ่องโจร แม้จะไม่พบความเชื่อมโยงกับมิโซระ แต่เธอถูกตัดออกจากรายการ เอ็นเอชเค โคฮากุอูตะกัสเซ็ง (NHK紅白歌合戦) ครั้งแรกในรอบ 18 ปี หลังจากนั้นเป็นต้นมา มิโซระปฏิเสธที่ออกรายการทางช่องเอ็นเอชเคเป็นเวลาหลายปี[17]

พ.ศ. 2521 มิโซระรับอุปการะคาซูยะ คาโต วัยเจ็ดขวบ เป็นบุตรบุญธรรม

อ้างอิง

[แก้]
  1. "NHKは何を伝えてきたか−NHKテレビ番組の50年". Nhk.or.jp. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 7, 2015. สืบค้นเมื่อ January 27, 2013.
  2. 26 November 2003 (水). "Top 100 Japanese pops Artists – No.5|HMV ONLINE". Hmv.co.jp. สืบค้นเมื่อ January 27, 2013.
  3. 3.0 3.1 "| a-ticket(エーチケット)". Avexlive.jp. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ January 27, 2013.
  4. "国民栄誉賞受賞者リスト". Hyou.net. สืบค้นเมื่อ January 27, 2013.
  5. https://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=950DE7DA1E3EF936A15755C0A96F948260 New York Times obituary June 25, 1989
  6. "Nippon Columbia Co., Ltd. | History". Columbia.jp. สืบค้นเมื่อ January 27, 2013.
  7. "hontoネットストア – 美空ひばり大全集 20世紀の宝石 全歌詩集録/ドレミ楽譜出版社編集部 – 本". Bk1.jp. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-20. สืบค้นเมื่อ January 27, 2013.
  8. http://www.jmdb.ne.jp/person/p0331260.htm accessed January 20, 2009
  9. "美空ひばりの新曲ライブの実現を支援 あの歌声を当社最新の歌声合成技術『VOCALOID:AI™』で再現 「NHKスペシャル AIでよみがえる美空ひばり(仮)」に技術協力 | VOCALOID (ボーカロイド・ボカロ) 公式サイト". vocaloid.com. September 3, 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-09. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
  10. "なんといっても #AI美空ひばり さんの新曲ステージ。 フルコーラスでお聞かせする。 生演奏のステージで、ゆったりと歩みだし、観客を見つめ歌い始める・・・ その瞬間、会場は時が巻き戻されたような、 もしくは、30年の時をこえひばりさんが復活したかのような不思議な雰囲気に包まれました。pic.twitter.com/7Y1lAoZQy3". September 29, 2019.[ต้องการแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่ปฐมภูมิ]
  11. "AIでよみがえる美空ひばり". nhk.or.jp. September 3, 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-05. สืบค้นเมื่อ 2020-01-01.
  12. Yano, Christine R. (2004). "Raising the ante of desire: foreign female singers in a Japanese pop music world". ใน B. Shoesmith (บ.ก.). Refashioning Pop Music in Asia: Cosmopolitan Flows, Political Tempos, and Aesthetic Industries. Routledge. p. 168. ISBN 978-0-7007-1401-8.
  13. Dorian, Frederick (1999). World Music. Rough Guide. p. 148. ISBN 978-1-85828-636-5.
  14. Lie, John (2000). "Ordinary (Korean) Japanese". ใน Sonia Ryane (บ.ก.). Koreans in Japan. Routledge. p. 2002. ISBN 978-0-415-21999-0.
  15. Weiner, Michael (2004). Race, ethnicity and migration in modern Japan. Routledge Press. p. 167. ISBN 978-0-415-20854-3.
  16. Wan, Foong Woei (13 August 2006). "A touch of Korea". The Straits Times.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 Anderson, Mark (2001). Sandra Buckley (บ.ก.). M1 Encyclopedia of Contemporary Japanese Culture. Routledge. pp. 123, 323–4. ISBN 978-0-415-14344-8. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  18. Shūkan Bunshun 「『美空ひばりの父は韓国人』はどこまで本当か」, August 10, 1989.
  19. 美空ひばり時代を歌う (1989.7) ISBN 4-10-365402-3
  20. http://www.goodsarchive.com/kakaku/4062098172.html[ลิงก์เสีย]
  21. Tansman, Alan (1996). "Mournful tears and sake: The postwar myth of Misora Hibari". ใน John Whittier Treat (บ.ก.). Contemporary Japan and Popular Culture. Honolulu: University of Hawai'i Press. ISBN 0-8248-1854-7.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]